วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559

การปิดรูรั่วผนังหัวใจห้องล่างหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด


ผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว Ventricular Septal Defect (VSD)



คือโรคหัวใจแต่กำเนิดที่มีความผิดปกติในการสร้างผนังกั้นหัวใจห้องล่างซ้ายและห้องล่างขวาที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่างและมักเป็นความผิดปกติโดยกำเนิด ส่วนสาเหตุอื่นๆ มักเกิดในขณะตั้งครรภ์ เช่น การติดเชื้อไวรัสในมารดา เช่น เชื้อหัดเยอรมัน หรือมารดาได้รับแอลกอฮอล์ สิ่งเสพติด สารเคมี ยาบางชนิด และมารดาเป็นเบาหวาน เป็นต้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักมีอาการเหนื่อย หายใจเร็ว เหนื่อยขณะดูดนม หัวใจบีบตัวเร็ว เด็กโตช้า ซีดและติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย โรคนี้อาจพบภาวะแทรกซ้อนได้ คือเลือดไปยังปอดมากเกินไป หัวใจล้มเหลว หัวใจช่องบนสั่นระริก อัมพฤกษ์ และความดันเลือดในปอดสูง
VSD ที่มีรูรั่วขนาดเล็กและไม่มีอาการผิดปกติจะไม่มีการรักษาเฉพาะ แค่คอยติดตามอาการและดูแลสุขภาพทั่วไป บางรายรูรั่วอาจปิดได้เองเมื่อโตขึ้น ส่วน VSD ที่มีขนาดใหญ่จะให้การรักษาโดยการให้ยาเพื่อช่วยรักษาอาการเหนื่อยหอบ ควบคู่กับการรักษาอื่นๆ  ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาและมีอาการรุนแรงขึ้นจะต้องรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการ (Palliative surgery) โดยอาจจะเป็นการผ่าตัดทำ Pulmonary artery banding ซึ่งเป็นการรัดให้ขนาดของ Pulmonary artery มีขนาดเล็กลง ลดจำนวนเลือดที่ไปยังปอดน้อยลง หรือทำการการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของหัวใจ (Corrective surgery) โดยการผ่าตัดเปิดหัวใจ (opened heart) เพื่อเข้าไปปิดรูรั่ว
ในปัจจุบันมีการรักษาผนังกั้นหัวใจรั่วโดยไม่ผ่าตัด ซึ่งเป็นการใช้ท่อเล็กๆ ใส่เข้าทางหลอดเลือดดำบริเวณต้นขาด้านขวาหรือซ้าย จากนั้นใส่อุปกรณ์พิเศษคือ septal occluder ซึ่งเป็นร่มใยสังเคราะห์บริเวณหัวใจห้องบนซ้ายและขวา ลักษณะของร่มใยสังเคราะห์นี้สามารถยืดหยุ่นได้ จากนั้นก็หมุนเอาร่มออกมาอุดรูรั่วแล้วถอดท่อนำออก และกดแผลบริเวณต้นขาประมาณ 20 นาที โดยก่อนสอดร่มใยสังเคราะห์ไปอุดรูรั่วหัวใจจะต้องใช้บอลลูนพิเศษใส่เข้าไปวัดขนาดของรูรั่วเพื่อดูความเหมาะสมของขนาดร่ม และดูว่ามีขอบสำหรับให้ร่มเกาะหรือไม่
อุปกรณ์พิเศษสำหรับปิดรูรั่วเหล่านี้ทำจากโลหะผสมที่เรียกว่า นิทินอล ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สามารถปิดรูรั่วได้ดี แรงกดบนเนื้อเยื่อรอบข้างน้อย อีกทั้งผิวของนิทินอลเคลือบด้วยทองคำขาวเพื่อป้องกันไม่ให้นิเกิลทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อ การอุดรูรั่วด้วยอุปกรณ์พิเศษนี้ไม่สามารถทดแทนการผ่าตัดได้ทั้งหมด แต่สามารถทดแทนได้ประมาณ 75% ขึ้นอยู่กับขนาดรูรั่วในหัวใจ

ข้อดีของการรักษาผนังกั้นหัวใจรั่วโดยไม่ผ่าตัด คือ
1. หลีกเลี่ยงอัตราเสี่ยงที่เกิดจากการผ่าตัดเปิดหัวใจ
2. ไม่มีรอยแผลผ่าตัดที่หน้าอก และลดความเจ็บปวดที่อาจเกิดจากการผ่าตัด
3. ใช้เวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 2-3 วัน เมื่อเทียบกับ 6-8 วันในการผ่าตัด
4. ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้เร็วขึ้น
5. ลดระยะเวลาพักฟื้นที่บ้าน เหลือเพียง 2-3 วัน เมื่อเทียบกับ 3-4 สัปดาห์ จากการผ่าตัด
แต่อย่างไรก็ตามในการรักษาผนังกั้นหัวใจรั่วนั้น แพทย์จะพิจารณาถึงตำแหน่งและขนาดของรูรั่ว หากตำแหน่งอยู่ใกล้กับทางเดินเส้นประสาท และขนาดรูรั่วใหญ่เกินไป แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีการผ่าตัด สำหรับในเด็กๆ หากมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 8 กิโลกรัม แพทย์ก็จะแนะนำให้ผ่าตัดเช่นเดียวกัน

เอกสารอ้างอิง
(ม.ป.ป.). (2555). ผลสำเร็จ!! การคิดค้นอุปกรณ์ปิดรูรั่วที่ผนังหัวใจห้องล่าง โดยไม่ต้องผ่าตัด.  สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2559จาก ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  เว็บไซต์: http://www.chulacardiaccenter.org/th/component/content/article.
(ม.ป.ป.). (2558).  หมอจุฬาฯใช้'นิทินอลปิดรูรั่วหัวใจ .  สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2559จากข่าวจุฬาฯ ในหน้าหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์: http://www.chula.ac.th/th/archive/news-clipping.
ปริศนา สุนทรไชย.  (ม.ป.ป.).  ผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจแต่กำเนิด.  สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2559จาก Center of Maternal and Newborn เว็บไซต์: http://www.cmnb.org/cmnb.
Anek  Suwanbundit.  (2557).  โลหะผสมไนทินอล.  สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2559จาก Gotoknow เว็บไซต์: https://www.gotoknow.org/blog/kena.


จัดทำโดย นางสาว จิรายุ  คำนวล 5701210682 เลขที่ 31 sec B
  












1 ความคิดเห็น: