วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559


แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดข้อเข่าเทียมและข้อสะโพกเทียม

            การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัเปลี่ยนข้อเข่าเทียมและการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม  โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบ่งออกเป็น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมบางส่วนและการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมทั้งข้อ ซึ่งในอดีตการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบบางส่วนจะทำได้ยากกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ ต้องใช้ความเชี่ยวชาญของแพทย์สูง เนื่องจากจะต้องวางข้อเทียมในตำแหน่งที่ถูกต้องเพื่อให้กลมกลืนกับข้อเดิม หากผิดพลาดก็อาจส่งผลต่อระยะเวลาการใช้งานของข้อเทียม ทำให้อายุการใช้งานของข้อสั้นกว่าที่ควรจะเป็น และผู้ป่วยอาจต้องได้รับการผ่าตัดซ้ำ ซึ่งการผ่าตัดในครั้งต่อๆ ไปอาจทำได้ยากกว่าและไม่ได้ผลดีเท่ากับการผ่าตัดครั้งแรก ในปัจจุบันจึงมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่นำมาใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมและข้อสะโพกเทียม นั่นก็คือ แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Arm Assisted Joint Replacement Surgery)

           การนำหุ่นยนต์มาช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในบางส่วน มีการทำงานประสานกัน 3 เครื่อง คือแขนกลหุ่นยนต์ กล้องจับสัญญาณภาพ 3 มิติ และเครื่องประมวลผล และควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ โดยมีหลักการทำงาน คือ เครื่องประมวลผลจากภาพด้วย CT scan จะวางแผนก่อนผ่าตัดทั้งขนาด ตำแหน่ง มุมของข้อเข่า และส่งผลนั้นไปยังแขนกลหุ่นยนต์  จากนั้นแพทย์จะทำการเปิดบริเวณข้อเข่าเสื่อม  แล้วใช้แขนกลตัดเฉพาะส่วนของกระดูกอ่อนและกระดูกหัวเข่าที่เสื่อมออก ซึ่งดูจากภาพ 3 มิติ ที่ปรับความละเอียดในการตัดกระดูกได้ถึงครั้งละ 0.2 มิลลิเมตร  และผลการผ่าตัดให้ค่าความเบี่ยงเบนไม่เกิน  1 มิลลิเมตร หรือ 1 องศาของมุมของข้อเข่า จากนั้นจึงนำข้อเข่าเทียมบางส่วน  ที่เป็นโลหะผสมของโครมโคบอลต์และไททาเนียมใส่เข้าแทนที่ 


การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนโดยหุ่นยนต์นี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมเพียงบางส่วน เช่น กระดูกส่วนบนของเข่า หรือกระดูกส่วนล่างของเข่า และที่สำคัญผู้ป่วยต้องมีข้อสะโพกที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เพื่อจะใช้จุดศูนย์กลางของข้อสะโพกโยงไปถึงแนวกระดูกสำหรับให้ใส่ข้อเข่าเทียมแบบบางส่วนได้อย่างแม่นยำ 

ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยวิธีการใช้แขนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

1.  มีอาการเจ็บน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบดั่งเดิม 

2.  มีโอกาสที่จะสามารถเริ่มเดินได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด

3.  ฟื้นตัวเร็ว ใช้เวลาพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลไม่เกิน 3 วัน 

4.  แผลผ่าตัดเล็ก เสียเลือดน้อย 

5.  มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ 

6.  ข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมมีอายุการใช้งานยืนยาว 

สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าได้อย่างเป็นธรรมชาติ เนื่องจากเส้นเอ็นไขว้หน้าและไขว้หลัง รวมถึงเนื้อเยื่อรอบๆ เข่าไม่ได้รับความบอบช้ำจากการผ่าตัด


ข้อจำกัดหรือข้อเสียของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมด้วยวิธีใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

1.  ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดค่อนข้างสูง เนื่องจากหุ่นยนต์มีราคาแพง และมีค่าบำรุงรักษาเครื่องค่อนข้างสูง

2.  ศัลยแพทย์ที่ใช้หุ่นยนต์ต้องได้รับการฝึกฝนและอบรมมาจนเชี่ยวชาญถึงสามารถใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดได้


อ้างอิง

คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล. (2555). รักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการผสมผสานนวัตกรรม. ค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2559, จากคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล เว็บไซด์ :  http://www.si.mahidol.ac.th/th/tvdetail.asp?tv_id=366

โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต. (ไม่ปรากฏปีพิมพ์). หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Surgery)ค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2559, จาก โรงพยาบาลกรุงเทพ เว็บไซด์ http://www.phukethospital.com/Thai/Health-Information/Robotic-Surgery.php

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. (ไม่ปรากฏปีพิมพ์). ศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม. ค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2559, จาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เว็บไซด์: https://www.bumrungrad.com/th/joint-replacement-surgery-center-bangkok-thailand



        • จัดทำโดย : นางสาวพันธรัก  จันทะสูนย์



 





5 ความคิดเห็น: