วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

รักษาโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทด้วย SELD


รักษาโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Herniated disc) ด้วย SELD


โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท มีสาเหตุมาจากการยกของหนักด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง การนั่งทำงานด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน น้ำหนักตัวที่มากเกินไป หรืออุบัติเหตุและการบาดเจ็บต่อกระดูกสันหลัง
โรคนี้จะมีอาการปวดหลังบริเวณเอวส่วนล่าง อาจมีที่หลังเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง มักมีอาการในท่านั่ง ปวดหรือชาขาตั้งแต่บริเวณเอว ต้นขา น่อง ไปจนถึงบริเวณเท้าและนิ้วเท้าได้ และอาจมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมัดที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทเส้นที่ถูกกดทับร่วมด้วย
การรักษา มีหลายวิธี ได้แก่ การรับประทานยาแก้อักเสบหรือยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการปวด การฉีดยาลดการอักเสบที่เส้นประสาทและการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 3 วิธี คือการผ่าตัดด้วยวิธีจุลศัลยกรรม (Microdiscectomy) การผ่าตัดแบบ Full Endoscopic Spinal Surgery และการทำการสลายพังผืดช่องไขประสาทผ่านทางผิวหนัง (Percutaneous Epidural Neuroplasty; PEN)



Trans Sacral Epidural Laser Decompression หรือ SELD
SELD เป็นวิทยาการสมัยใหม่ในการรักษาโรคหมอนรองกระทับเส้นประสาทที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่กลัวการผ่าตัดขนาดใหญ่ กลัวเจ็บแผล กลัวการกระทบกระเทือนจากการเปิดผ่าตัดได้มีทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะเป็นวิธีการรักษาโดยไม่ต้องทำการผ่าตัดและมีภาวะแทรกซ้อนน้อยหลังทำหัตถการ



ข้อบ่งชี้ที่สามารถใช้วิธี SELD เพื่อการรักษา
  1. หมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท มีอาการปวดหลัง ร้าวลงขา มีอาการขาชา บริเวณน่องด้านนอก
  2. กลุ่มคนไข้ที่เคยผ่าตัดแล้วมีอาการขึ้นมาใหม่ เคยผ่าตัดรักษาหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนแล้วมีอาการที่ตำแหน่งเดิม
  3. พังผืดกดทับเส้นประสาทหลัง
  4. ใช้เพื่อการวินิจฉัย และนำชิ้นเนื้อออกมาตรวจ

ขั้นตอนในการทำ SELD
ข้อดีของการทำ SELD
  1. ลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด การดมยาสลบและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากการผ่าตัด
  2. เป็นหัตถการที่มีแผลขนาดเล็ก ประมาณ 2 มิลลิเมตร ไม่ทำให้กล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อชอกช้ำ ฉีกขาด ไม่รบกวนกระดูกสันหลังบริเวณอื่นๆ มีแผลเย็บบริเวณก้นกบ 1 เข็ม
  3. ฟื้นตัวได้เร็ว ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหลายวัน กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติได้เร็ว

ข้อเสียของการทำ SELD
  1. ค่าใช้จ่ายสูง
  2. จำเป็นต้องมีการตรวจและวินิจฉัยอย่างละเอียด จึงส่งผลให้ใช้ระยะเวลานาน
  3. เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของการรักษา หากผู้ป่วยไม่มีการปฏิบัติตัวเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้ออย่างเคร่งครัดอาจส่งผลให้กลับมาเป็นซ้ำได้

อ้างอิง
จิระเดช  ตุงคะเศรณี. (2012). Laser,รักษาหมอนรองกระดูกทับเส้น,เทคโนโลยีใหม่ผ่านกล้องขนาดเล็ก. February 23,  2016, from Phyathai Hospital: http://www.phyathai.com/medicalarticledetail/2/78/1219/th
ชลเวช ชวศิริ. (2010). กันหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอย่างไรดี. February 26, 2016, from Faculty of Medicine Siriraj Hospital: http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=740
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. (2016). โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Herniated disc)February 262016, fromBumrungrad International: https://www.bumrungrad.com/th/spine-institute-surgery-bangkok-thailand-best-jci/herniated-disc
สมศักดิ์ เหล่าวัฒนา. (2015). การส่องกล้องขนาดเล็กจิ๋วเคลื่อนไหวได้รักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาทด้วยเลเซอร์ (Trans Sacral Epidural Laser Decompression). February 23, 2016, from Bangkok Advanced Clinic: http://thaihappyhealth.com/articles/happy-bone-joint/trans-sacral-epiduroscope-laser-decompression/


จัดทำโดย : นางสาวปวีณ์กร  วีระชาติ 5701210248 sec B


2 ความคิดเห็น: