วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

การรักษาโรคกระดูกข้อเข่าเสื่อมโดยการปลูกถ่ายกระดูกอ่อนจากสเต็มเซลล์เลือด







 

          โรคกระดูกข้อเข่าเสื่อม คือโรคที่เกิดจากกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าเกิดการสึกหรอและเสื่อมสภาพลง ซึ่งกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าจะทำหน้าที่ในการปกป้องและเป็นตัวรับแรงกระแทกในข้อเข่า โรคกระดูกข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการปวดเข่า มีเสียงในข้อ บวม ข้อเข่าโก่งงอ และข้อเข่าจะยึดติดทำให้ไม่สามารถเหยียดหรืองอเข่าได้



          วิธีการรักษาแบบเดิม คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า วิธีนี้จะช่วยรักษาโรคกระดูกข้อเข่าเสื่อมได้ประมาณ 10-15 ปี ทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าใหม่หลายครั้ง เกิดความรู้สึกเจ็บปวดหลังผ่าตัด และพักฟื้นจากการผ่าตัดหลายครั้ง ดังนั้น พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์  อาวเจนพงษ์ จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนานวัตกรรมการปลูกถ่ายไขกระดูกอ่อนเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดขึ้นมาประกอบกับการใช้เทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องเพียงครั้งเดียว
   

 
        สเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดคือเซลล์ชนิดพิเศษพบได้ทุกช่วงเวลาของการเจริญเติบโตในสิ่งมีชีวิตสามารถแบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัดและสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ได้เกือบทุกชนิดในร่างกายเช่น เซลล์ผิวหนัง สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ และเซลล์เม็ดเลือด มีหน้าที่สำคัญในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ เพื่อทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพในร่างกาย 

 




         สเต็มเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นสเต็มเซลล์ที่ได้มาจากการเจาะเลือดบริเวณแขนของผู้ป่วย ประมาณ 1000-2000 ซีซี นำเข้าเครื่องกรองเพื่อปั่นเก็บสเต็มเซลล์จากเลือด จากนั้นให้เลือดวนกลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยเหมือนเดิม วิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องสูญเสียเลือด และไม่ต้องเจ็บปวดจากการเจาะไขกระดูก นอกจากนี้ยังมีวิธีการเก็บสเต็มเซลล์เม็ดเลือดจากไขกระดูกบริเวณสะโพก  และการเก็บจากสายสะดือทารก



วิธีการรักษา

          1. เมื่อได้สเต็มเซลล์จากเลือดแล้วทำการส่องกล้องเข้าไปที่ข้อเข่าผู้ป่วยเพื่อตรวจสอบและใช้เครื่องมือขนาดเล็กประมาณ 3 มิลลิเมตร สอดเข้าไปเพื่อนำกระดูกอ่อนเก่าที่เสื่อมออก
          2. จากนั้นเจาะรูที่บริเวณดังกล่าวประมาณ 3-5 รู และสร้างขอบให้ยึดเกาะได้
  3. ฉีดสเต็มเซลล์เลือดของผู้ป่วยตามรูที่เจาะไว้เพื่อเข้าไปเกาะ พร้อมกับสารอาหารเจริญเติบโตที่ได้มีการเตรียมไว้
  4. ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 40 นาที
  5. เมื่อปลูกถ่ายเสร็จแล้วใช้เวลาอีกประมาณ 2 อาทิตย์ กระดูกอ่อนก็จะเริ่มเติบโตจนผู้ป่วยสามารถเดินได้เองโดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า
  6. ถ้าจะเล่นกีฬาต้องรออีกประมาณ 2-3 เดือน ทั้งนี้เมื่อกระดูกอ่อนโตจนสามารถเลี้ยงตัวเองได้จะมีความหนาประมาณ 4-5 มิลลิเมตร จากขนาดปกติจะมีความหนาประมาณ 6-8 มิลลิเมตร สามารถใช้งานได้ประมาณ 10 นอกจากนี้แผลผ่าตัดยังมีขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร
          7. หลังจากปลูกถ่ายไปแล้วได้มีการวิเคราะห์โดยการตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจสอบ เมื่อพบว่าเป็นกระดูกอ่อนที่มีเซลล์งอกขึ้นมาจริงถือว่าการรักษานั้นสำเร็จ

ข้อจำกัด

          1. มีอาการข้อเข่าเสื่อม หรือการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนในระยะต้น
          2. มุมของกระดูกผิดรูปน้อยกว่า 3 องศา
          3. ผู้ป่วยต้องใช้สเต็มเซลล์ของตัวเองในการรักษา เพราะจะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้
          4. ถ้ามีการใช้สเต็มเซลล์ของคนอื่นจะต้องมีการใช้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับร่างกาย

ข้อดี
          แผลผ่าตัด หรือแผลจากการรักษามีขนาดเล็ก
          ช่วยลดความเจ็บปวด
          - ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
          - ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นตามธรรมชาติ
          - ไม่ต้องสูญเสียเลือดและไม่ต้องเจ็บตัวจากการเจาะไขกระดูก
ข้อเสีย
          หากมีข้อผิดพลาดจากการทำสเต็มเซลล์จะส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมได้ เซลล์โตหรือขยายตัวขึ้น เมื่อเซลล์โตมากๆ ก็จะกลายเป็นเนื้องอกของเส้นเลือด

แหล่งอ้างอิง

 การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต.[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก: http://med.mahidol.ac.th/  content/10212013-1117-th. (วันที่ค้นข้อมูล: 23 มีนาคม 2559).

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. สเต็มเซลล์.[ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก:  http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/198/สเต็มเซลล์-เซลล์ต้นกำเนิด/(วันที่ค้นข้อมูล: 23 มีนาคม 2559).

นวัตกรรมใหม่รักษาข้อเข่าเสื่อม ปลูกกระดูกอ่อนจากสเต็มเซลล์เลือดผ่านกล้อง.[ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก:https://ascannotdo.wordpress.com. (วันที่ค้นข้อมูล: 23 มีนาคม 2559).

พัฒนา  เต็งอำนวย.(2555,มีนาคม- สิงหาคม).ข้อคิดเกี่ยวกับสเต็มเซลล์บำบัด.วารสารสำนักการแพทย์ทางเลือก,5(2)

โรคข้อเข่าเสื่อม. [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก : https://www.bumrungrad.com/th/joint-replacement-surgery-center-bangkok-thailand/knee-osteoarthritis. (วันที่ค้นข้อมูล: 23 มีนาคม 2559).

ศริศักดิ์   สุนทรไชย.(2551,กุมภาพันธ์- เมษายน).สเต็มเซลล์(Stem cell).วารสาร ความปลอดภัยและสุขภาพ,1(3)

                                                               จัดทำโดย       
                                                    นางสาวอรุณี    วงศ์ขัติ
                                         นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค


4 ความคิดเห็น: