วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

สาวขี้อายจะตรวจมะเร็งปากมดลูกยังไงดีนะ !

สาวขี้อายจะตรวจมะเร็งปากมดลูกยังไงดีนะ !



มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มผู้หญิงไทย โดยส่วนมากพบในผู้หญิงช่วงอายุ 35-60 ปี ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมา หรือ HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยอาจมีปัจจัยจากการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยหรืออาจมักมีคู่นอนหลายคู่ มีประวัติกามโรค หรืออาจทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก คือ การตรวจหาความผิดปกติในระยะเริ่มแรก การตรวจที่สูตินรีแพทย์ใช้และเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน คือ
•      การตรวจทางเซลล์วิทยาของปากมดลูก (cervical cytology) หรือ Pap smear ซึ่งเป็นการตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกที่เป็นผลจากการติดเชื้อ HPV เพื่อทำการสืบค้นและรักษาไม่ให้ดำเนินโรคเป็นมะเร็งปากมดลูก
•      การตรวจหาเชื้อ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็งที่ปากมดลูก หรือ HPV DNA testing เป็นการตรวจหาตัวเชื้อโดยตรงบริเวณปากมดลูกและผนังช่องคลอด

การตรวจมะเร็งปากมดลูกแบบ pap smear ซึ่งจะต้องแยกขาหรือขึ้นขาหยั่งและสอดอุปกรณ์ที่เรียกว่า speculum เข้าไปในช่องคลอด แล้วป้ายเซลล์จากมดลูกแล้วส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
วิธีการดังที่กล่าวมานี้ทำให้ผู้หญิงหลายๆ คนเกิดความเขินอายและไม่กล้าที่จะตรวจ จากปัญหานี้เองทำให้เกิดความร่วมมือของ สถาบัน ได้แก่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลสมิติเวช ในการค้นหาวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทางเลือกใหม่ โดยใช้เซลล์ที่ได้จากน้ำปัสสาวะเพื่อตรวจหา HPV DNA ซึ่งช่วยแก้ปัญหาสตรีที่กลัวและอายการขึ้นขาหยั่ง และช่วยลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลงได้

การตรวจมะเร็งปากมดลูกจากปัสสาวะ
ขั้นตอนแรกคือ การเก็บปัสสาวะลงในบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดเชื้อ ให้มีปริมาตรอย่างน้อย 15-30 มิลลิลิตร (ที่เหมาะสมที่สุดคือปัสสาวะในช่วงแรก) จะใช้ระยะเวลาในการตรวจทางห้องปฏิบัติการประมาณ ชั่วโมง หากผลการตรวจเป็น Positive หมายความว่า ตรวจพบเชื้อ HPV  ผู้เข้ารับการตรวจรายดังกล่าวจะต้องเข้ารับการตรวจเพื่อยืนยันผลโดยการทำ pap smear อีกครั้ง  ส่วนกรณีที่ผลการตรวจเป็น Negative คือตรวจไม่พบเชื้อ HPV ก็สบายใจได้ แต่ก็ควรทำการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี


ข้อดี
  • เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้หญิงในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเบื้องต้น (Pre-screening program) ที่ผู้หญิงที่กลัวและไม่ยอมเข้ารับการตรวจภายในเพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ
  • มีความสะดวกในการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง
  • ลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเนื่องจากมีผู้รับการตรวจคัดกรองมากขึ้น
ข้อด้อย
  • การตรวจหา DNA ในปัสสาวะนั้นทำได้ยาก เนื่องจากตัวอย่างที่ได้อาจมีความเจือจาง และมีการปนเปื้อนของ urea และ nitrites และสารอื่นๆ ที่สามารถยับยั้งปฏิกิริยา polymerase chain reaction ได้
  • อาจมีการปนเปื้อนของแบคทีเรียอื่นๆ และอาจทำให้ตรวจไม่พบ HPV DNA หรือให้ผลการทดลองที่คลาดเคลื่อน
  • ความแม่นยำของผลการตรวจไม่เทียบเท่าการตรวจโดยการเก็บเซลล์ตัวอย่างจากปากมดลูกโดยตรง (Pap smear) 
กลุ่มที่เหมาะกับการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะ
  • วัยรุ่น หรือเด็กหญิง ที่ต้องการตรวจก่อนหรือหลังรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
  • ผู้สูงอายุ ที่ไม่สะดวกในการตรวจ Pap smear
  • คนที่เขินอาย กลัวเจ็บ และปฏิเสธการตรวจ Pap smear อย่างสิ้นเชิง








การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะไม่ใช่วิธีที่มาทดแทนการตรวจ pap smear แต่จะมีประโยชน์มากสำหรับกลุ่มผู้หญิงที่กลัวหรืออาย และไม่ยอมเข้ารับการตรวจภายใน วิธีนี้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้ผู้หญิงได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น สามารถลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลงได้แต่สำหรับผู้หญิงที่เคยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการตรวจ pap smear เป็นประจำทุกปีโดยสูตินรีแพทย์อยู่แล้วนั้นวิธีการนี้คงไม่จำเป็น เพราะคุณได้รับการตรวจที่ดีที่สุดและแม่นยำที่สุดอยู่แล้ว





อ้างอิง
ผศ. นพ. ไพโรจน์ จรรยางค์ดีกุล.(2558).นวัตกรรมการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะ.บทความสุขภาพสมิติเวช.ค้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 จากhttps://www.samitivejhospitals.com/th
ทีมวาไรตี้.(2556). ‘ตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะ’ เทคนิคใหม่ช่วยวินิจฉัย มะเร็งปากมดลูก’.เดลินิวส์.ค้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 จาก http://m.dailynews.co.th/Article.do?contentId=96721
Haijai.(2016).ตรวจปัสสาวะคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหาเชื้อไวรัส HPV.สุขภาพผู้หญิง.ค้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 จากhttp://health.haijai.com/3662/

จัดทำโดย    นางสาวกรนภา   รังแก้ว
5701210842  sec.A

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น