วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

มีดมีจมูกคืนความสุขให้ผู้ป่วยมะเร็ง



ในปัจจุบันแนวทางการรักษาผู้ป่วยมะเร็งนั้นมีหลากหลาย ไม่ใช่แค่การผ่าตัดอย่างเดียว แต่ยังมีการรักษาแบบรังสีรักษา ยาเคมีบำบัด เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มักจะเลือกการผ่าตัด เพื่อป้องกันการแพร่ของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่นๆ ดังนั้นด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงทำให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยให้การผ่าตัดง่ายขึ้น คือ iKnife หรือ intelligent knife

iKnife หรือ intelligent knife เป็นมีดอัจฉริยะ ซึ่งคิดค้นโดยคณะวิจัยจาก Imperial College  กรุงลอนดอน ซึ่งได้แนวคิดมาจากการเห็นควันออกมาจากมีดไฟฟ้าที่ศัลยแพทย์ใช้ผ่าตัดและจี้หลอดเลือด โดยที่ Zoltán Takáts นักเคมีชาวฮังการีเกิดข้อสงสัยว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะวิเคราะห์ควันที่เกิดจากการเผาไหม้เนื้อเยื่อขณะผ่าตัดโดยมีดไฟฟ้า ว่าเนื้อเยื่อดังกล่าวมีเซลล์มะเร็งอยู่หรือไม่ โดยที่ไม่ต้องเอาชิ้นเนื้อไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ดังนั้นเขาจึงศึกษาส่วนประกอบของควันแล้วนำมาแปลผลกับเครื่องมือวัดมวล (mass spectrometer) ทำให้ทราบว่ารูปแบบของกรดไขมันที่ได้จากการดูดเอาควันจากมีดผ่าตัดไฟฟ้า แล้วนำไปวัดด้วย mass spectrometer จะสามารถจำแนกเนื้อเยื่อของสัตว์แต่ละประเภทได้ และนี่เองก็เป็นจุดเริ่มต้นในการเอาแนวความคิดนี้มาใช้จริงในทางคลินิก 



ขั้นตอนการทำงานของ iKnife  

เมื่อแพทย์นำมีดจี้ไฟฟ้าสัมผัสเนื้อเยื่อ จะเกิดควันออกมา ควันจะถูกดูดเข้าไปใน Mass spectrometer และแสดงผลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยหน้าจอคอมพิวเตอร์จะแสดงผลเป็นภาพวงกลมสีแดงบ่งบอกว่า ยังมีเนื้อเยื่อมะเร็งอยู่ และแสดงเป็นสีเขียวหากปลอดมะเร็งแล้ว  ส่วนสีเหลืองเป็นบางอย่างที่อยู่กลางๆระหว่างเซลล์ปกติหรือเซลล์มะเร็ง ทำให้แพทย์สามารถรู้ว่ามีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่หรือไม่ภายในเวลา 3 วินาที  ซึ่งถือว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับเทคนิคเดิมๆ ที่นำตัดชิ้นเนื้อเยื่อไปตรวจวิเคราะห์ในห้องทดลอง ที่ต้องใช้เวลา 20-30 นาที 





            จากผลการทดลองในปี 2013 ซึ่งได้นำมีดผ่าตัดไฟฟ้าไปจี้กับตัวอย่างเนื้อเยื่อผู้ป่วย 302 รายที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับ ปอด เต้านมและสมอง และทดสอบใช้ผ่าตัดผู้ป่วยจริง 91 ราย พบว่ามีดสามารถวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ 100% ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งเป็นจำนวนมาก  


 ข้อดี  
 - ช่วยประหยัดระยะเวลาในการผ่าตัด
 - ศัลยแพทย์จะสามารถหาจุดที่เป็นมะเร็งชัดเจนขึ้นและทำการผ่าตัด
 ข้อเสีย  
     - มีราคาแพง
    - สามารถใช้กับคนที่เป็นมะเร็งระยะเริ่มต้นได้เท่านั้น ใช้ไม่ได้กับผู้ป่วยที่มีระยะลุกลามของมะเร็ง  

อ้างอิง

พลัง โชติสิริ. (2556). iKnife: มีดมีจมูก. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม, 2559, จาก http://www.biomed.in.th/iknife/

รัตพล อ่อนสนิท. (2556). เครื่องมือผ่าตัดยุคใหม่ที่ชื่อว่า iKnife ช่วยแพทย์กำจัดเนื้อที่มีเซลล์มะเร็งได้แม่นยำมากขึ้น. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม, 2559, จาก http://www.voathai.com/content/iknife-ro/1704947.html

สำนักข่าวเอซีนิวส์. (2556). 'มีดผ่าตัด'แยกเนื้อเยื่อดี-มะเร็ง. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม, 2559, จาก http://www.acnews.net/detailnews.php?news_id=N255602654

จัดทำโดย                 
นางสาว ชุติมณฑน์    ไพรพฤกษ์
คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค 














1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นบทความที่มีประโยชน์ เนื้อหาน่าสนใจ อ่านง่ายมีรูปภาพประกอบ มีการเน้นจุดส่วนที่สำคัญ

    ตอบลบ